มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ กลุ่ม ปตท. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก โดย นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างแนวทางความร่วมมือที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก สู่สาธารณชน พร้อมด้วยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ และ นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมเป็นสักขีพยาน นางรตยา เปิดเผยว่า ด้วยการทำงานการดูแลรักษาผืนป่าตะวันตกร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทำให้ผืนป่าแห่งนี้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ เป็นแหล่งระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หนุนเสริมให้พื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 17 แห่งในผืนป่าตะวันตกได้พัฒนางานอนุรักษ์ในพื้นที่ แยกการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ ใจกลางป่า มีการพัฒนางานลาดตระเวนให้มีประสิทธิภาพ ในแต่ละเดือนพิทักษ์ป่าเดินลาดตระเวนป่ากว่า 20 วัน ระยะทางเดินรวมเฉลี่ย 600 กิโลเมตรต่อพื้นที่อนุรักษ์ป่า โดยใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่องานป้องกันและปราบปราม บริเวณแนวขอบป่า มีการทำงานร่วมกับชุมชน กลุ่มองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามามีบทบาทร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และสำหรับชุมชนที่ประชิดขอบป่า ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีการดำเนินงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการจัดตั้งป่าชุมชน 154 แห่ง เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทในการดูแลรักษา และจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในระยะที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2547 ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า ปตท.ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกในระยะที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2553 และปตท.มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความร่วมมือในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีส่วนสำคัญในการต่อยอดฟื้นฟูผืนป่าตะวันตกที่เป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของไทย อีกทั้งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เป็นจำนวนมาก จากผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมาจึงนำมาสู่ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการลงนามความร่วมมือในวันนี้ นางรตยา กล่าวว่า ก้าวต่อไปของการทำงาน คือ การพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกที่จะเชื่อมร้อยระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ส่วน มีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้ | 1. การทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ 1. สร้างระบบการจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 2. พัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ 3. สนับสนุนงานลาดตระเวนร่วมกับชุมชน เป้าหมาย 1. เกิดรูปธรรมนำร่องการจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 2. เพื่อนำไปสู่การทำงานพื้นที่อื่นต่อไป 2. การทำงานร่วมกับชุมชน กลุ่ม และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1. สนับสนุนการทำงานชุมชนของเจ้าหน้าที่ (ทั้งด้านทักษะ กิจกรรม และอุปกรณ์ทำงาน) 2. การจัดกิจกรรมร่วมเพื่อการอนุรักษ์ 3. สนับสนุนคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ เป้าหมาย เป็นกลไกเชื่อมต่อการทำงานระหว่างป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ 3.การทำงานร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ 1. สนับสนุนทักษะและอุปกรณ์ทำงานลาดตระเวน 2. สนับสนุนงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 3. สนับสนุนระบบการลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ เป้าหมาย 1. เกิดระบบการบริหารจัดการทั้งผืนป่า 2. เกิดการลาดตระเวนที่มีประสิทธิภาพ |
ข่าว >