อบก.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาวิธีการคำนวณ สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในการผลิตไฟฟ้า และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ จากการที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 7 ถึง 20 ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในการดำเนินงานตามปกติ หรือ BAU (Business as Usual) ภายใน ปี พ.ศ. 2563 หรือที่เรียกว่า NAMAs (Nationally Appropriate Mitigation Actions) นั้น (อ้างอิงข้อมูลจาก http://unfccc.int) ในการนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อม รวมถึงการพัฒนาแนวทางและกระบวนการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตการภาคพลังงาน ซึ่งมาตรการหลักในภาคพลังงาน ได้แก่ มาตรการด้านพลังงานทดแทน และมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ หรือ MRV (Measurement, Reporting and Verification) ที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล โดยที่ผ่านมา อบก.ได้ร่วมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนามาตรฐานสำหรับแนวทางและกระบวนการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านพลังงานทดแทน และมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงาน | อบก.มั่นใจว่า ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการลดก๊าซเรือนกระจก จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ NAMAs ภายใน ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) อย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้กับนานาอารยประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกอีกทางหนึ่งด้วย ที่มา: งานแถลงข่าว อบก. ประสานภาครัฐ พัฒนาแนวทางการติดตามประเมินผล การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการ ภายใต้ NAMAs |
บทความ >