บทความ
• เชื่อหรือไม่ว่าทุกครั้งที่คุณใช้อินเทอร์เน็ต เท่ากับบริโภคพลังงานไฟฟ้าและปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์
"ทุกวันนี้เราเล่นเน็ตมากกว่าขับรถ ดูหนัง กินข้าว และนอนหลับ ใช่ไหมครับ" แล้วอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานอย่างไร? คำตอบคือ ทุกครั้งที่คุณใช้อินเทอร์เน็ต เท่ากับบริโภคพลังงานไฟฟ้าและปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกมานั่นเอง !! อัตราการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2จากการใช้อินเทอร์เน็ต เปรียบเทียบง่าย ๆ เช่น คน 1 คน เปิดหน้า Google ขึ้นมา เท่าการใช้พลังงานของรถยนต์ปกติขับไป 3 นิ้ว แล้วถ้าโดนไวรัสล่ะก็เทียบเท่ากับปริมาณที่เราเปิดหน้า Google เช่นกัน บางคนคิดว่าแค่นี้น้อยจะตาย เอางี้ครับ! ลองเทียบใหม่ ระหว่าง 1 คน = 0.3 กรัมของ CO2 คูณด้วยจำนวนคนทั้งโลก 2 ล้านล้านคน ที่เปิดเว็บพร้อมกัน คราวนี้คงนึกภาพพลังงานที่ใช้ไปออกใช่ไหมครับ มหาศาลขนาดไหน!! จริงอยู่ที่การบริโภคพลังงาน ใช่ว่าจะวัดได้ด้วยเครื่องตรวจวัด แต่ลองมองย้อนกลับมาคิดว่า ทรัพยากรที่ใช้ในการเล่นอินเทอร์เน็ตมีอะไรบ้าง? เริ่มตั้งแต่เปิดมือถือเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการให้บริการจากศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ จากศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เชื่อมต่อกลับไปที่ศูนย์รวมทวีป ทุกส่วนของการเชื่อมต่อล้วนใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานทั้งนั้น ยังไม่รวมการเชื่อมต่อคลาวด์ทั้งหลาย (Apple Google ฯลฯ) คูณศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งระบบ ยกกำลังไปเลยครับ มหาศาลเลยทีเดียว!! คราวนี้เห็นหรือยังครับว่าอินเทอร์เน็ตใช้ทรัพยากรไปมากมายขนาดไหน จึงเป็นเหตุผลที่องค์กร และรัฐบาลจากทุกมุมโลก หันมาตั้งนโยบาย หรือที่เราเรียก Policy ร่วมกัน เพียงแค่ลดการใช้ลง 1 วินาที หรือลดความเสื่อมของอุปกรณ์ เท่ากับช่วยลดกำลังผลิตไฟฟ้า ลดน้ำมัน ลดถ่านหิน ลดการทำลายโอโซนไปอย่างมากมายเหลือจะกล่าวแล้ว อธิบายมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าให้หยุดใช้อินเทอร์เน็ตนะครับ ใช้ไปตามปกตินี่แหละ แต่ลดความล่าช้าในการเชื่อมต่อข้อมูล ลดระยะทาง หันมาใช้ระบบเดียวกัน ลดปัญหาการคำนวณ ฯลฯ ที่สำคัญคือหากเราร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการใช้อินเทอร์เน็ต จะช่วยลดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน | แล้วคนไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย อินเทอร์เน็ตไทยในเวทีโลกได้อย่างไร? ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับสมาคมอินเตอร์เน็ต หรือInternet Society ชื่อย่อคือ ISOC (ไอซ็อก) ISOC เป็นองค์กรความร่วมมือและประสานงานของสมาชิกอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรและมีนโยบายสนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการศึกษาและงานวิจัย รวมทั้งทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่ไม่มีหน้าที่ดูแลหรือควบคุมการบริหารเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมกันพิจารณานโยบายผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น Internet Governance Forum (IGF) หรือ TheInternet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) เป็นต้น ในประเทศไทยขับเคลื่อนโดยสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Society Thailand) หรือ ISOC Thailand ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของสถานศึกษาเป็นหลัก เน้นการพัฒนาและปรับปรุงองค์ความรู้ทางด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเครือข่าย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา แต่ไม่มีส่วนกำหนดในเชิงนโยบาย และสิทธิมนุษย์ชน เนื่องจากภาครัฐบาลและเอกชน เป็นผู้ดำเนินการ เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ทั้งการใช้งานด้านความปลอดภัย สุขภาพ และพลังงาน การกำหนดทิศทางและมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานภายใต้วัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องที่สุด การกำหนดบทบาทของอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญ หลายประเทศมีการผลักดันและเพิ่มความสำคัญในนโยบายนานาชาติให้โน้มเอียงไปที่ประเทศของตน และความโน้มเอียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายอินเทอร์เน็ตระดับโลก ด้วยนโยบายของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อทิศทางของอินเทอร์เน็ตในระดับโลกนี้เอง ทำให้สมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (ISOC Thailand) พยายามผลักดันให้คนไทยมีส่วนร่วมแสดงบทบาทในเวทีโลก เพื่อให้การเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นพลังคู่ขนานไปกับการเติบโตของจำนวนสมาชิกสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ สนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสแสดงความคิดเห็นบนเวทีอินเทอร์เน็ตสากลมากขึ้น ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องรวมพลังกันอีกครั้ง เพื่อให้คนไทยได้เห็นว่าทุกเสียงในฐานะสมาชิก ISOC Thailand ทำให้ไทยมีส่วนร่วมในนโยบายอินเทอร์เน็ตบนเวทีโลกได้อย่างไร สมัครสมาชิกสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Society Thailand) หรือ ISOC Thailan โดยลงทะเบียนได้ที่ https://goo.gl/OaZBdY และเฟซบุ๊ค ISOCThailand โดย: อ.ธิติกร สุทธิอาภา หัวหน้าศูนย์บริหารคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม |
• อบก.ยันพร้อมติดตามผลลดก๊าซเรือนกระจก จากมาตรการอนุรักษ์พลังงาน
อบก.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาวิธีการคำนวณ สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในการผลิตไฟฟ้า และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ จากการที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 7 ถึง 20 ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในการดำเนินงานตามปกติ หรือ BAU (Business as Usual) ภายใน ปี พ.ศ. 2563 หรือที่เรียกว่า NAMAs (Nationally Appropriate Mitigation Actions) นั้น (อ้างอิงข้อมูลจาก http://unfccc.int) ในการนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อม รวมถึงการพัฒนาแนวทางและกระบวนการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตการภาคพลังงาน ซึ่งมาตรการหลักในภาคพลังงาน ได้แก่ มาตรการด้านพลังงานทดแทน และมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ หรือ MRV (Measurement, Reporting and Verification) ที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล โดยที่ผ่านมา อบก.ได้ร่วมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนามาตรฐานสำหรับแนวทางและกระบวนการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านพลังงานทดแทน และมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงาน | อบก.มั่นใจว่า ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการลดก๊าซเรือนกระจก จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ NAMAs ภายใน ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) อย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้กับนานาอารยประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกอีกทางหนึ่งด้วย ที่มา: งานแถลงข่าว อบก. ประสานภาครัฐ พัฒนาแนวทางการติดตามประเมินผล การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการ ภายใต้ NAMAs |
• นโยบายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมอาเซียน (AC)
มาดูกันว่า ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community หรือ AC) ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาเซียนจะมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เขียวและสะอาดโดยการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดการบริหารอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ดิน น้ำ แร่ธาตุ พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศสำหรับภูมิภาคอาเซียน อาเซียนจะมีส่วนร่วมในความพยายามของโลก ในการจัดการแก้ปัญหาสิ่งท้าทายสิ่งแวดล้อมโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและคุ้มครองชั้นโอโซน เช่นเดียวกับการพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 1. การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกโดยปราศจากผลกระทบต่อหลักการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักความเท่าเทียม ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยสะท้อนถึงสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่แตกต่างกัน มาตรการ : 1. เพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อปรับปรุงและเสริมสร้างศักยภาพในระดับประเทศและภูมิภาคในการจัดการประเด็นและพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs) โดยการวิจัยระดับภูมิภาค การส่งเสริมความตระหนักรับรู้ โครงการส่งเสริมขีดความสามารถและตัวเลือกนโยบายที่มีข้อมูลครบถ้วน 2. ส่งเสริมการประสานในการดำเนินงานกับเอ็มอีเอเอสที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการจัดการมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอ็มอีเอเอสว่าด้วยเรื่องชั้นบรรยากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สารทำลายชั้นโอโซน และเอ็มอีเอเอส ว่าด้วยเรื่องสารเคมีและของเสียที่เป็นสารเคมี 3. ส่งเสริมความเข้าใจ/และท่าทีร่วมของอาเซียนในเอ็มอีเอเอส และ 4. การนำการจัดการแบบภาพรวมไปใช้ในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม 2. การจัดการและการป้องกันปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมข้ามแดน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ดำเนินมาตรการและส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน การเคลื่อนย้ายปฏิกูลอันตรายข้ามแดน โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถ ส่งเสริมการตระหนักรับรู้ต่อสาธารณชน เพิ่มอำนาจการบังคับใช้กฎหมาย และสนับสนุนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และดำเนินการตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน 2.1. มลพิษหมอกควันข้ามแดน มาตรการ : 1. ดำเนินการตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยดำเนินมาตรการป้องกันให้เป็นรูปธรรมในการติดตามและลดผลกระทบ และริเริ่มกระบวนการจัดทำพิธีสารสำหรับการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความตกลง 2. จัดทำความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยอมรับกฎหมาย กฎ ระเบียบ และนโยบายระดับชาติของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระดับพหุภาคีหรือทวิภาคีโดยเน้นกิจกรรมในการป้องกัน 3. ให้ศูนย์ประสานงานการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนแห่งอาเซียน อำนวยความสะดวกในความร่วมมือและการประสานงานรวมทั้งร่วมกันตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 4. จัดหาเงินสำหรับกองทุนการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน โดยการบริจาคอย่างสมัครใจจากประเทศสมาชิกและด้วยความร่วมมือจากประเทศคู่เจรจาเพื่อให้มีเงินทุนสำรองสำหรับการดำเนินการที่เป็นประสิทธิภาพในการปฏิบัติความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน 5. ควบคุมและสอดส่องดูแลพื้นที่และการเกิดไฟป่าในภูมิภาคและส่งเสริมการจัดการอย่างยั่งยืนและการจัดการกับพื้นที่พรุในภูมิภาคอาเซียนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าและมลพิษจากหมอกควันโดยการดำเนินการข้อริเริ่มในการจัดการพื้นที่พรุในอาเซียน (APMI) ภายในปี 2558 2.2. มลพิษจากของเสียที่มีพิษข้ามแดน มาตรการ : 1. ส่งเสริมการประสานงานในระดับภูมิภาคและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความสามารถในการจัดการของเสียอันตราย 2. ใช้ประโยชน์จากศูนย์ภูมิภาคอนุสัญญาบาเซลในการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (BCRC-SEA) และบทบาทของคณะทำงานในการให้บริการแก่ภูมิภาคในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการของเสียอันตราย 3. จัดตั้งกลไกระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพและพร้อมที่จะปฏิบัติการในการจัดการของเสียอันตรายข้ามแดน รวมทั้งการขนย้ายของเสียที่ผิดกฎหมายโดยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาบาเซล 3. ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ทำให้อาเซียนเขียวและสะอาด มั่งคั่งด้วยประเพณีวัฒนธรรม เป็นที่ซึ่งค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติของประชาชนสอดคล้องกลมกลืน และประสานกับธรรมชาติด้วยการที่ประชาชนมีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เต็มไปด้วยชาติพันธุ์ทางสิ่งแวดล้อมและมีความตั้งใจ และความสามารถในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค โดยผ่านทางการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรการ : 1. ปฏิบัติตามแผนงานอาเซียนว่าด้วยการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (AEEAP) ปี 2551-2555 2. จัดทำการประเมินสำหรับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติในระบบการ ศึกษาขั้นพื้นฐานเรื่องเนื้อหาครอบคลุมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (EE) และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (ESD) 3. จัดทำฐานขั้นต่ำเพื่อประเมินโครงการการศึกษาวิชาชีพครู รวมทั้งการให้บริการฝึกอบรมทั้งก่อนและระหว่างนั้นได้ครอบคลุมประเด็นอีอีและอีเอสดีในทางทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติ 4. ส่งเสริมให้มีระบบการรับประกันคุณภาพในการศึกษาที่เป็นทางการเพื่อให้ครอบคลุมอีอีและอีเอสดีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง 5. ส่งเสริมการทำวิจัยในเรื่องอีอีและอีเอสดีเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการพัฒนาในการศึกษาที่เป็นทางการ 6. ส่งเสริมแนวคิดเรื่องโรงเรียนที่ยั่งยืน เช่น อีโคสกูลและโรงเรียนสีเขียว ในประเทศสมาชิกอาเซียน 7. พัฒนาหลักสูตรอีอี สื่อการสอนที่เหมาะกับท้องถิ่นและช่วยส่งเสริม อีเอสดีในระดับท้องถิ่นและชุมชน 8. ส่งเสริมอีอีให้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในแต่ละประเทศสมาชิก 9. ใช้อีอีอย่างเหมาะสมในการส่งเสริมแนวปฏิบัติของธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 10. ส่งเสริมสัปดาห์สิ่งแวดล้อมอาเซียนเพื่อเป็นเวทีจัดกิจกรรมระดับชาติในการเฉลิมฉลองและส่งเสริมการตระหนักรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศสมาชิกอาเซียน 11. จัดทำเกณฑ์ขั้นต่ำของอีอีสำหรับความต้องการในการฝึกอบรมในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ 12. จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับอีอีและอีเอสดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ 13. จัดทำโครงการฝึกอบรมผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่องอาเซียนอีอีสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น ข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา นักการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชนและผู้ที่อยู่ในแวดวงการสื่อสาร เยาวชน สตรี เป็นต้น 14. จัดให้มีทุนการศึกษาเกี่ยวกับอีอีและอีเอสดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาค 15. ส่งเสริมและจัดการฐานข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียนอย่างแข็งขันเพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลในการแจกจ่ายและแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้เรื่องอีอีและอีเอสดีในอาเซียน 16. พัฒนาเครือข่ายเยาวชนทั่วอาเซียนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 17. จัดตั้งเครือข่ายโรงเรียนอาเซียนที่ยั่งยืน โรงเรียนอาเซียนสีเขียว และ อีโคสกูล 18. จัดให้มีการประชุมนานาชาติประจำปีเกี่ยวกับอาเซียนอีอี การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอีอีของภูมิภาคเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง ประสบการณ์และเป็นการสร้างเครือข่าย เป็นต้น 19. จัดตั้งเครือข่ายและกระชับความร่วมมือกับองค์กรเอกชน มหา-วิทยาลัย และสื่อมวลชนทั่วภูมิภาคเพื่อให้เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้สนับสนุน ผู้ถ่ายทอด และเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงสำหรับอีอี และอีเอสดี และ 20. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน เช่น ผู้นำทางศาสนาซึ่งมีความใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นในการส่งเสริมเรื่องการตระหนักรับรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 4. ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม (EST) เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ใช้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยให้มีผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการ : 1. ดำเนินการตามเครือข่ายอาเซียนว่าด้วยอีเอสที (อาเซียน-เนสต์) ภายในปี 2558 2. มุ่งไปสู่การรับรองในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งภูมิภาค/กลไกในการติดป้ายประกาศเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและปกป้องทางสิ่งแวดล้อมภายในปี 2558 3. ส่งเสริมการประชุมอีเอสทีเพื่อประเมินความต้องการในการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้ และกรอบความร่วมมือเหนือ–ใต้ เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี 5. แสวงหาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์อีเอสทีสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (เช่น ศูนย์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด) 6. ขยายความร่วมมือในการทำวิจัยร่วม การพัฒนา การเคลื่อนย้ายและการถ่ายทอดอีเอสที 5. ส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานการดำรงชีวิตในเมืองต่างๆ ของอาเซียนและเขตเมือง เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : เพื่อรับประกันว่าเขตเมืองและชุมชนในอาเซียน มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน รองรับความต้องการของประชาชนในด้านสังคมและเศรษฐกิจได้ มาตรการ : 1. ขยายงานที่มีอยู่ภายใต้ข้อริเริ่มอาเซียนว่าด้วยเมืองที่มีลักษณะที่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 2. เพิ่มพูนความพยายามของแต่ละประเทศ และร่วมกันในการปรับปรุงคุณภาพของอากาศและน้ำภายในอาเซียนภายใต้ข้อ3. ริเริ่มระดับชาติหรือระดับภูมิภาคเพื่อลดมลภาวะทางอุตสาหกรรมและการคมนาคม 4. แบ่งปันประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น การวางผังเมือง รวมทั้ง การจัดการน้ำ เขตเมืองสีเขียว และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของเขตเมือง การสาธารณสุข และการจัดการของเสีย 3Rs (ลด,นำมาใช้ใหม่ และการทำให้นำมาใช้ประโยชน์ได้อีก) การควบคุมมลภาวะในอากาศ เสียง น้ำ และบนดิน อาทิเช่น จัดให้มีโครงการเมืองคู่แฝด 5. ดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่ข้อริเริ่มต่างๆ เช่น “สังคมที่มีก๊าซคาร์บอนต่ำ”, “เมืองกะทัดรัด”, “เมืองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 6. จัดทำมาตรการที่เปรียบเทียบได้ในระดับสากล สำหรับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสำหรับเมืองใหญ่ในอาเซียนภายในปี 2558 แนะนำและดำเนินการให้รางวัลเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (ESC) ภายในปี 2551 เพื่อเป็นแรงจูงใจในการส่งเสริมแนวปฏิบัติในเรื่องอีเอสซี 6. การทำการประสานกันเรื่องนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูล เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ส่งเสริมความพยายามที่เหมาะสมที่จะประสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูลทีละขั้น โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมระดับชาติของรัฐสมาชิก เพื่อสนับสนุนการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเป้าประสงค์ด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค มาตรการ : 1. มุ่งไปสู่การดำเนินการตามเกณฑ์สิบสามข้อ อันดับแรก ด้านสิ่งแวดล้อม และดำเนินความพยายามที่จะสร้างหลักประกันเรื่องการประสานในระดับภูมิภาคในเรื่องของการวัด การควบคุมและการรายงาน ภายในปี 2558 2. มุ่งมั่นในเรื่องการประสานเรื่องมาตรฐาน และกระบวนการประเมินให้สอดคล้องสำหรับการดำเนินการและโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2558 3. สานต่อการจัดทำรายงานสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมตรงตามกำหนดเวลาเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายและการจัดการเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 4. ส่งเสริมแนวปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการจัดการเรื่องสีเขียวในรัฐสมาชิกและพัฒนายุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคสำหรับอาเซียน ภายในปี 2558 และ 5. ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคในเรื่องการประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการขนาดใหญ่และกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค 7. ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : สร้างหลักประกันเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งว่าจะได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบบนิเวศตัวอย่าง พืชและพื้นที่ดั้งเดิมได้รับการคุ้มครอง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งได้รับการปลูกฝัง มาตรการ : 1. สร้างหลักประกันเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศและรายสาขาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศเพื่อบรรลุการพัฒนาอาเซียนอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมทางชายฝั่งและทางทะเล 2. เสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่มีคุณภาพของน้ำทะเลแห่งชาติภายในปี 2558 โดยยึดถือเกณฑ์น้ำทะเลที่มีคุณภาพของอาเซียน 3. จัดตั้งเครือข่ายตัวแทนของพื้นที่คุ้มครองเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่วิกฤต ภายในปี 2558 โดยการดำเนินการตามข้อกำหนดของอาเซียนว่าด้วยพื้นที่ที่เป็นมรดกทางทะเลและข้อกำหนดของอาเซียนว่าด้วยพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองแห่งชาติ 4. ส่งเสริมการอนุรักษ์และการจัดการอย่างยั่งยืนสำหรับระบบนิเวศที่สำคัญในเขตชายฝั่งและสถานที่อาศัยของสัตว์และพืชทะเล เช่น ความพยายามร่วมกันที่จะรักษาและปกป้องอุทยานแห่งชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รอยต่อ เช่น ข้อริเริ่มสามเหลี่ยมปะการังว่าด้วยแนวปะการัง การประมงและความมั่นคงด้านอาหาร 5. เสริมสร้างขีดความสามารถและศักยภาพรวมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อชุมชนประมงและชุมชนชายฝั่งอื่นๆในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม 6. ส่งเสริมการใช้สิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทางทะเลอย่างยั่งยืนโดยการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกโดยเน้นความสำคัญระดับโลกของสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทางทะเลในการรับมือกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การทำนุบำรุงการให้บริการของระบบนิเวศ รวมทั้งปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล 7. ส่งเสริมการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับปัญหามลภาวะข้ามแดนสืบเนื่องจากอุบัติเหตุน้ำมันรั่วในทะเล และ 8. ส่งเสริมความร่วมมือในการรับมือกับมลภาวะของสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเลที่มีแหล่งที่มาจากพื้นดิน 8. ส่งเสริมการจัดการเกยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ให้ความมั่นใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ของอาเซียนจะได้รับการรักษาและจัดการอย่างยั่งยืนโดยการเสริมสร้างสภาวะที่ดีทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มาตรการ : 1. บรรลุเป้าหมาย ภายในปี 2553 ในเรื่องการลดอย่างมีความหมายของอัตราการสูญเสียในปัจจุบันของความหลากหลายทางชีวภาพโดยการดำเนินแผนงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ 2. ส่งเสริมการประสานงาน การแบ่งปันตัวอย่างบทเรียนในการเข้าถึงและการแบ่งปันทรัพยากรทางพันธุกรรมและชีวภาพอย่างเท่าเทียมกันภายในปี 2558 3. ส่งเสริมการจัดทำรายการและการร่วมกันจัดการอุทยานที่เป็นมรดกของอาเซียนในการเป็นเวทีที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดการพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทางระบบนิเวศ ภายในปี 2558 4. ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการพื้นที่คุ้มครองข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นเพื่อนบ้านกัน 5. ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบของการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการตัดต่อสารพันธุกรรมโดยเป็นไปตามพิธีสารคาร์ทาเกน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพภายในปี 2558 6. จัดตั้งเครือข่ายการทำงานในระดับภูมิภาคเพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดทำรายการของทรัพยากรทางชีวภาพและมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2558 7. ส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ACB) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการอนุรักษ์ และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ 8. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพป่าไม้ ภายในปี 2558 9. ส่งเสริมนโยบายการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและแนวปฏิบัติที่จะลดผลกระทบจากการบุกรุกของสายพันธุ์ต่างถิ่นในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ 10. ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น การทำวิจัยร่วมกัน และการพัฒนาประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและการฝึกอบรม 11. เสริมสร้างความพยายามที่จะควบคุมการค้าข้ามพรมแดนในเรื่องสัตว์ป่าและพืชป่าภายใต้แผนงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องการค้าพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ปี 2548-2553 และเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย (อาเซียน-เว็น) เพื่อดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) 12. แสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดทำการสำรวจร่วมกันและการติดตามการอพยพของสัตว์ป่า 13. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการพื้นดินเสื่อมโทรมสำหรับการจัดการพื้นดินอย่างยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 9. ส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำจืด เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำจืด โดยให้ความเชื่อมั่นในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมกัน และคุณภาพที่ได้รับการยอมรับได้ในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอาเซียน มาตรการ : 1. สานต่อการดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการจัดการทรัพยากรน้ำ 2. พยายามที่จะลดจำนวนประชากร ที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มปลอดภัยให้เหลือเพียงครึ่งเดียวภายในปี 2553 3. จัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อให้สามารถได้บริการน้ำดื่มได้อย่างเพียงพอภายในปี 2558 4. ส่งเสริมการดำเนินการจัดการลุ่มแม่น้ำอย่างบูรณาการภายในปี 2558 5. ส่งเสริมการตระหนักรับรู้และการเป็นหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ 6. ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยมาตรการและโครงการอนุรักษ์น้ำ รวมทั้งนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปรับปรุงคุณภาพและการจัดหาน้ำ 10. การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการจัดการต่อผลกระทบ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในรัฐสมาชิกอาเซียน โดยดำเนินมาตรการในการบรรเทาและการปรับตัวบนพื้นฐานของหลักความเป็นธรรม ความยืดหยุ่น การมีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบร่วมกัน และแตกต่างกัน ตามขีดความสามารถ รวมทั้งสะท้อนสภาวะที่แตกต่างทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มาตรการ : 1. ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันของอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ (เท่าที่เป็นไปได้) มีส่วนร่วมในความพยายามและท่าทีร่วมกันในการจัดการประเด็นเหล่านี้ 2. ส่งเสริมความพยายามในการจัดทำข้อริเริ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ACCI) 3. ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ (R&D) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการปรับตัวและมาตรการลดผลกระทบ และส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4. สนับสนุนให้ประชาคมโลกมีส่วนร่วมและช่วยสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในเรื่องการปลูกป่า และฟื้นฟูผืนป่ารวมทั้งเพื่อลดปริมาณการตัดไม้ทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมสภาพ 5. พัฒนายุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการตระหนักรับรู้ของสาธารณชนเพื่อจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ 6. เสริมสร้างการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการจัดการภูมิอากาศที่เกี่ยวกับภัยพิบัติและโครงการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 7. พัฒนาระบบสังเกตการณ์ในระดับภูมิภาคเพื่อตรวจสอบผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศในอาเซียน 8. สนับสนุนการจัดทำนโยบายระดับภูมิภาค การศึกษาทางวิทยาศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 19. ส่งเสริมการตระหนักรับรู้และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปกป้องสุขภาพมนุษย์จากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน องค์กรเอกชน และชุมชนในการจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ 11. ส่งเสริมยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าข้อริเริ่มที่นำไปสู่ประชาคมอาเซียนที่มีเศรษฐกิจที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความร่วมมือที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 11. ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน (SFM) เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนและขจัดกิจกรรมที่ไม่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินการปราบปรามการลักลอบตัดไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถ การถ่ายโอนเทคโนโลยีและส่งเสริมการตระหนักรับรู้และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายและธรรมาภิบาล มาตรการ : 1. ดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์ของมาตรการความร่วมมือของอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านป่าไม้ ปี 2548-2553 2. สนับสนุนการวางแผนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการจัดการเรื่องป่าในอาเซียน 3. เสริมสร้างการจัดการสังคมและวัฒนธรรมในด้านปัญหาการลักลอบตัดไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขจัดความยากจนและการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย เช่น การคอร์รัปชั่นและการฟอกเงิน 4. สนับสนุนข้อริเริ่มระดับโลกและระดับภูมิภาคในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและการแผ้วถางป่า และเพื่อส่งเสริมการปลูกป่า และฟื้นฟูพื้นที่ป่าภายใต้ความพยายามของกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เพื่อกำหนดแรงจูงใจและความช่วยเหลือที่เหมาะสมระหว่างประเทศ 5. สนับสนุนข้อริเริ่มระดับภูมิภาคที่เกี่ยวกับป่าไม้ เช่น ข้อริเริ่มเรื่องการปลูกป่าในใจกลางบอร์เนียว หุ้นส่วนป่าแห่งเอเชีย และเครือข่ายเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อการจัดการและการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืนรวมทั้งความพยายามระดับโลก เช่น ป่าไม้ 11 เวที 6. เสริมสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการวิจัยและการพัฒนาด้านป่าไม้เพื่อบรรลุการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (SFM) 7. เสริมสร้างความร่วมมือในอาเซียนและร่วมกันจัดการปัญหาเรื่องป่าไม้ทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเพื่อมีสวนร่วมในการพัฒนาหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนา 8. ส่งเสริมการจัดการป่าไม้ รวมทั้งการดำรงชีวิตในชุมชนที่อยู่ในบริเวณป่าและพื้นที่รอบๆป่าให้มีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนของป่าไม้และความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน 9. ส่งเสริมการขจัดแนวปฏิบัติการที่ไม่ยั่งยืนและที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย 10. เสริมสร้างการดำเนินการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้านป่าไม้และ ธรรมาภิบาลเพื่อบรรลุการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและเพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ รวมทั้งการขจัดและการต่อสู้กับกระบวนการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขจัดแนวปฏิบัติที่ผิดกฎหมายเช่นในเรื่องคอร์รัปชั่นและการฟอกเงิน 11. ดำเนินการตามแผนงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเสริมสร้างป่าและธรรมาภิบาลในอาเซียน ปี 2551-2558 ที่มา:กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เวปไซด์ |
• เจาะกฏหมายสิ่งแวดล้อม
ภาพรวมของกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย สิ่งแวดล้อม คือ อะไร? เมื่อเราพูดถึงสิ่งแวดล้อมหลายคนอาจจะยังสงสัยว่าสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังพูดถึงนั้นหมายถึงอะไรบ้าง รวมถึงทุกอย่างเลยหรือไม่ บางครั้งสิ่งแวดล้อมบางอย่างอาจถูกมองข้ามหรือปล่อยปละละเลยจนกระทั่งเกิดความผิดปกติอย่างชัดเจนหรือส่งผลเสียต่อระบบอื่นๆที่พวกเราพึ่งพาหรือใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน พวกเราจึงมองเห็นและเริ่มให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม(Environment) คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา สิ่งแวดล้อมอาจจะกินความหมายกว้างแต่ถ้าพูดถึง สิ่งแวดล้่อมตามความหมายของกฎหมาย สิ่งแวดล้อมหมายถึงสิ่งต่างๆที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้นกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเหมือนกับกฎหมายอื่นๆคือ วางกฎเกณฑ์หรือระเบียบให้กับพวกเราต้องทำตามเสมือนเป็หน้าที่อย่างหนึ่งที่จะต้องทำนอกจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นกฎหมายเฉพาะแล้ว กฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญเองก็ได้เขียนเกี่ยวกับหน้าที่ของประชาชนต้องทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย“รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้ ส่งเสริม บำรุง รักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลัก การพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อ สุขภาพอนามัยสวัสดิภาพ และ คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยประชาชนชุมชนท้องถิ่น และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน” นอกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งถือเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศก็ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดแผนการจัดการ การพัฒนาการใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีหลักในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรมชาติและเรื่องที่มุ่งเน้นในการพัฒนาและใช้ประโยชน์ สาระสำคัญของกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มีเนื้อหาในการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบรอบด้าน ทั้งมลพิษทางน้ำทางอากาศ เสียง และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย โดยการกำหนดให้มีเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายทำหน้าที่ควบคุมดูแลการบังคับใช้กฎหมายในด้านต่างๆอย่างจริงจังนอกจากนี้ กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ยังได้เอาหลักการทางเศรษฐศาสตร์เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ด้วย เช่น หลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย(Polluter Pays Principle) และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม จุดมุ่งหมายของการมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม คือ ป้องกัน ปรับปรุง และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึง ลงโทษผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม คือ จุดมุ่งหมายของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ลักษณะเด่นของกฎหมายฉบับนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยมีข้อกำหนดในกฎหมายดังนี้ คือประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากรัฐในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากมลพิษที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมหรือโครงการของรัฐการร้องเรียนหรือกล่าวโทษผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมองค์กรเอกชน หรือ NGOs ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสามารถที่จะขอรับการช่วยเหลือ จากทางราชการในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมตลอดถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในคดีสิ่งแวดล้อมและการขอเิงินอุดหนุน หรือเงินกู้จากกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อกิจกรรมต่างๆได้ด้วย กฎหมายสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ ที่มีบทลงโทษกับผู้กระทำความผิด ความผิดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยผู้กระทำความผิดอาจเป็นบุคคลเดียว กลุ่มคน บริษัทเอกชน หน่วยงานของรัฐ โรงงาน หรือใครก็ตามที่เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือก่อความเสียหายให้ผู้อื่นหรือชุมชนก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย ดังนี้ การทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร มีโทษทั้งกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ถ้าหากปล่อยให้แหล่งกำเนิดมลพิษที่ตัวเองดูแลหรือครอบครองอยู่นั้นก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายมลพิษ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินไม่ว่าผลเสียหายนั้นจะเกิดเพราะความจงใจให้เกิดหรือประมาทเลินเล่อก็ตามยกเว้นเสียแต่ว่ามลพิษจากแหล่งกำเนิดนั้น เกิดขึ้นเพราะคำสั่งของรัฐบาลหรือพนักงานของรัฐ เกิดเพราะเหตุสุดวิสัยนอกจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ที่กำหนดมาตรฐานในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษไว้อย่างกว้างๆแล้วยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับที่ำได้กำหนดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในแต่ละเรื่องโดยมีราละเอียดมากขึ้นและมีมาตรการการจัดการที่ชัดเจน เช่น - กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพน้ำและการควบคุมมลพิษทางน้ำ - กฎหมายเกี่ยวกับขยะมูลฝอย - กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัย กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม - กฎหมายเกี่ยวกับกองทุนสิ่งแวดล้อม - กฎหมายเกี่ยวกับเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม - กฎหมายเกี่ยวกับเขตควบคุมมลพิษ - กฎหมายเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม - กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ - กฎหมายเกี่ยวกับโรงงาน - กฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพระดับเสียงและการควบคุมมลพิษทางเสียง - กฎหมายเกี่ยวกับสารพิษ สารเคมี วัตถุอันตราย วัตถุมีพิษและการควบคุม นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เป็นกฎระเบียบและประกาศอีกหลายฉบับที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเพื่อเป็นแนวทางและกำหนดเป็นมาตรฐานในควบคุมและรักษาสิ่งแวดล้อมประกาศเรื่อมาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้แก่มาตรฐานคุณภาพน้ำมาตรฐานคุณภาพอากาศมาตรฐานคุณภาพระดับเสียงและการควบคุมและมาตรฐานสารพิษและการควบคุมประกาศเรื่องการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้แก่ประกาศเรื่องข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในการครอบครองของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประกาศเรื่องโครงสร้างและการจัดหน่วยงานอำนาจหน้าที่วิธีดำเนินงานและสถานที่ติดต่อเพื่อรับข้อมูลข่าวสารของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและระเบียบกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2541 เป็นต้น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเครื่องมือ อย่างหนึ่งของรัฐในการเข้ามาช่วยจัดระเบียบสังคมให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากเกินควร ไม่อันตรายต่อสุขภาพของประชาชน แล้วยังมีเครื่องมือที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นออกมาอีกมาก ที่สามารถช่วยให้สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อ้างอิง: - ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์แลกคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. 2552. พิมพ์ครั้งที่ 1 - พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 - รองศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณทิต. 2550. หนังสือกฎหมายสิ่งแวดล้อม. พิมพ์ครั้งที่2 แก้ไข เพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: วิญญูชน - กอบกุล รายะนาคร กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทย ฉบับที่ 19 เดือนตุลาคม 2540 บทความต้นฉบับ: pat chaovawanich |
• อสังหาริมทรัพย์กับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวด ล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 46 ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรี กำหนดตามมาตรา 46 วรรคสองก็ได้ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ 1. อาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่อยู่ใกล้ หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23.00 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป 2. โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 3. อาคารที่อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพัก ตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป (อาคารอยู่อาศัยรวม หมายถึง อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หอพัก อาคารให้เช่าเพื่อการอยู่อาศัย หรืออาคาร หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งแยกออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว) 4. โครงการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป หรือเนื้อที่เกินกว่า 100 ไร่ EIA คืออะไร? EIA หรือ Environmental Impact Assessment เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ หรือกิจการที่สำคัญ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการ ตัดสินใจพัฒนาโครงการหรือกิจการ ผลการศึกษาจัดทำเป็นเอกสาร เรียกว่า "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม" [Environmental Impact Assessment: EIA] ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงาน EIA เจ้าของโครงการต้องว่าจ้างนิติบุคคลที่ ได้รับอนุญาตจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้เป็นผู้มีสิทธิทำรายงาน EIA ซึ่งหลังจากได้จัดทำรายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าของโครงการหรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของโครงการจะต้องนำรายงานไปยื่นต่อ สผ. และหน่วยงานผู้อนุญาตโครงการ เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล หรือ อบต.) เป็นต้น ขั้นตอนการทำรายงาน EIA 1. เจ้าของโครงการจะต้องทราบก่อนว่าโครงการนั้นจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ 2. ว่าจ้างที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลผู้มีสิทธิทำรายงานฯ 3. เจ้าของโครงการส่งรายงานให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (สผ.) โดย สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการจะใช้เวลาการพิจารณารายงานฯ ตามขั้นตอนที่กำหนดไม่เกิน 75 วัน แต่หากคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ปรึกษาจะต้องใช้เวลาในการปรับแก้ และจัดส่งให้ สผ. และคณะกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คำเตือน โครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากมีการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานก่อนรายงานฯ ได้รับความเห็นชอบ ถือว่า ผิดกฎหมาย และจะทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณารายงานและขั้นตอนการพัฒนาโครงการ หมายเหตุ ที่ปรึกษาจะใช้เวลาในการจัดทำรายงาน EIA ประมาณ 3-8 เดือนขึ้นอยู่กับลักษณะโครงการ สภาพพื้นที่ สิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น Source: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
1-6 of 6